บทบาทสำคัญ ของ "ผ้าห่มเน่า" 🧸

บทบาทสำคัญ ของ "ผ้าห่มเน่า" 🧸

เมื่อตอนเด็ก ๆ เราล้วนอาจจะมีสิ่งของที่ติดหนึบ อาจจะเป็น ตุ๊กตา หมอน หรือผ้าห่มเน่า ๆ รู้ไหมว่าสิ่งของเหล่านั้นล้วนมีความหมายและมีบทบามสำคัญต่อเราจนกระทั่งเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เลยทีเดียว 

.
.
อาการติด ‘ผ้าเน่า’ เป็นเรื่องธรรมดา จิตวิทยาอธิบายความสำคัญของ ‘ผ้าเน่า’ กับการเติบโตของเด็กเล็ก

‘ผ้าเน่า’ หรือ ‘หมอนเน่า’ คงเป็นหนึ่งในปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ต่างต้องเคยพบเจอ เมื่อเจ้าตัวน้อยเริ่มมีผ้านุ่มๆ หมอนนิ่มๆ หรือตุ๊กตาน่ารักสักตัวที่เจ้าตัวติดหนึบไม่ยอมปล่อย แม้จะเริ่มฉีกขาด เปื่อยเป็นขุย และมีกลิ่นตุๆ ก็ยังเก็บไว้ไม่ห่างตัว ทำเอาเป็นกังวลว่า ลูกจะเป็นเด็กไม่ยอมโต แต่ทางจิตวิทยาแล้ว ผ้าเน่าเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตตามปกติของเด็กเล็ก

 

 

โดยปกติแล้ว ในช่วงประมาณ 6 เดือนแรกของเด็กแรกเกิด ทารกจะแยกตัวเองกับโลกภายนอกไม่ออก และคิดไปเองว่าแม่ หรือคนที่ดูแลเขาเป็นคนๆ เดียวกับเขา แค่นึกว่าอยากได้อะไรก็จะได้ แค่คิดว่าหิวเดี๋ยวก็จะอิ่ม ไม่ได้นึกว่าคนที่คอยหานมให้กินคือคนละคนกับตัวเอง

ในเวลาต่อมา พอรู้ว่าตัวเองกับแม่เป็นคนละคนกัน เด็กจะเกิดความวิตกกังวล เพราะเขารู้แล้วว่าแม่คือคนอื่น เขาอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ต้องพึ่งพิงแม่ จึงกลัวว่าอาจจะถูกทอดทิ้งได้

 

ในปี 1951 โดนัลด์ วูดส์ วินนิคอตต์ (Donald Woods Winnicott) กุมารแพทย์ และนักจิตวิเคราะห์ เป็นผู้เริ่มใช้คำว่า วัตถุเปลี่ยนผ่าน (Transitional Object) ในการเรียกผ้าเน่า เพราะว่าผ้าเน่านี้เองเป็นตัวช่วยให้ลูกน้อยเปลี่ยนผ่านจากภาวะเป็นหนึ่งเดียวกับแม่ สู่ภาวะที่ตระหนักรู้ว่าแม่กับตัวเขาเป็นคนละคนกัน

‘ผ้าเน่า’ หรือวัตถุเปลี่ยนผ่านอื่นๆ มักจะเป็นของชิ้นแรกที่เด็กเป็นเจ้าของจริงๆ ในแง่ที่ว่าเขารู้ตัวดีว่านี่เป็นสิ่งของที่ไม่ใช่ตัวเขาเอง แต่เขาสามารถควบคุมมันได้ ขณะที่แม่ไม่สามารถอยู่กับเขาได้ตลอดเวลา แต่เขารู้ว่าผ้าเน่าจะอยู่กับเขาเสมอ ผ้าเน่าเป็นเหมือนตัวแทนของแม่ที่ทำให้เด็กทารกรู้สึกปลอดภัย โดยเฉพาะในเวลานอน และเวลาที่รู้สึกเครียด ผู้ใหญ่จึงไม่ควรแอบเอาไปทิ้งโดยที่เจ้าตัวยังไม่ยินยอมเด็ดขาด

จากการวิจัยพบว่า ผ้าเน่ายังส่งผลดีกับเด็กอีกด้วย เมื่อปล่อยให้เด็กเล็กเล่นในห้องที่ไม่คุ้นเคยโดยมีสิ่งที่ให้ความรู้สึกปลอดภัยอย่างแม่ หรือผ้าเน่าอยู่ เด็กจะกล้าเล่น สำรวจสิ่งต่างๆ และอดทนไม่ร้องไห้ได้ดีกว่าเด็กที่ไม่มีอะไรอยู่ด้วยเลย แต่ผ้าเน่าจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเด็กรู้สึกผูกพันกับมันจริงๆ เท่านั้นการติดผ้าเน่าเป็นเรื่องปกติของทารกที่คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นห่วงอะไร ในอเมริกาพบว่าราว 60 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอเมริกาเคยมีผ้าเน่า หมอนเน่า หรือตุ๊กตาเน่าทั้งนั้น เด็กมักเริ่มมีผ้าเน่าของตัวเองในช่วง 4-12 เดือนแรก และเมื่อมีอายุได้ 5-6 ขวบ ผ้าเน่าก็มักจะเริ่มสำคัญกับเขาน้อยลง จนหย่าจากกันไปเองในที่สุด

 

 

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อโลกมันร้าย ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ใหญ่บางคนก็ยังใช้ผ้าเน่าเป็นเครื่องพึ่งพิงทางอารมณ์เช่นกัน โดยเครือโรงแรม Travelodge เคยสำรวจในปี 2011 พบว่า ผู้ใหญ่ชาวอังกฤษจำนวน 35 เปอร์เซนต์ยังคงนอนหลับกับตุ๊กตาหมี

ถึงอย่างนั้น ปัญหาสำคัญที่ขัดใจผู้ปกครองหลายคนคงไม่พ้นความเน่าของผ้าน่านั่นเอง คลอเดีย เอ็ม โกลด์ (Claudia M Gold) กุมารแพทย์ ได้ให้คำแนะนำไว้ในเว็บ Psychology Today ว่าเมื่อลูกอายุได้สัก 4 เดือน ควรเป็นฝ่ายพาผ้าเน่า หรือหมอนเน่ามาแนะนำกับลูกเอง โดยเตรียมเผื่อไว้ 2 อัน เผื่อหาย และเอาไว้สลับซักได้ หากปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป ลูกก็อาจไม่รู้สึกผูกพันกับผ้าเน่าตัวใหม่ หากสายไปแล้ว และลูกไม่ยอมอยู่ห่างจากผ้าเน่าเลย ทางเลือกที่เหลืออาจเป็นการให้เจ้าตัวน้อยช่วยทำความสะอาดผ้าเน่าของเขา ช่วยให้เขาอุ่นใจว่าหลังจากเฝ้าดูเจ้าเน่าของเขาอาบน้ำแล้วมันก็จะสะอาดหอมและกลับมาหาเขาเหมือนเดิม

กลับไปยังบล็อก